สถาบันไทยศึกษา จุฬาฯ เปิดตัวฐานข้อมูลลายผ้าขาวม้าไทย
รักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ สร้างความภาคภูมิใจให้กลุ่มทอผ้าขาวม้าทั่วประเทศ
สถาบันไทยศึกษา จุฬาฯ ร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมจัดโครงการพัฒนาอัตลักษณ์ผ้าขาวม้าและเปิดตัวฐานข้อมูลลายผ้าขาวม้าไทย เพื่อรวบรวม จัดเก็บ และเผยแพร่ลายอัตลักษณ์ผ้าขาวม้าไทยในรูปแบบฐานข้อมูล ทั้งลายผ้าขาวม้าท้องถิ่น และลายผ้าขาวม้าสร้างสรรค์ใหม่ โดยเชื่อมโยงข้อมูลไปยังฐานข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย รวมทั้งส่งเสริมคุณค่าและมูลค่าของผ้าขาวม้าไทยในฐานะมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ โดยต่อยอดองค์ความรู้จากงานวิจัยไปสู่ผลงานนวัตกรรมในหลากหลายมิติ โดยได้จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวฐานข้อมูลลายผ้าขาวม้าไทยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ห้องอำไพ สุจริตกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ
ในเดือนมีนาคม ปี 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติเสนอให้ “ผ้าขาวม้า: ผ้าเอนกประสงค์ในวิถีชีวิตไทย” เป็นตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมวลมนุษยชาติ (Representative List for Intangible Cultural Heritage of Humanity) เพื่อเป็นการส่งเสริมให้คนไทยและประชาคมโลกได้ตระหนักถึงคุณค่าของงานหัตถกรรมพื้นบ้านของไทยที่แม้จะดูเป็นงานที่เรียบง่ายแต่เปี่ยมไปด้วยภูมิปัญญาของคนไทยในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเป็นมิตรและยั่งยืน
โครงการนวัตกรรมวิจัยไทยศึกษา เป็นแนวคิดต่อยอดองค์ความรู้ที่เกิดจากผลงานวิจัยด้านไทยศึกษาให้เกิดผลงานทางนวัตกรรมในหลากหลายมิติ นอกจากนี้ยังทำให้องค์ความรู้ทางด้านไทยศึกษาเป็นที่ประจักษ์แก่สังคมว่าเป็นสิ่งที่เข้าใจเข้าถึงและจับต้องได้ โครงการจัดทำฐานข้อมูลลายผ้าขาวม้าไทยเป็นผลผลิตจากแนวคิดดังกล่าว สถาบันไทยศึกษา จุฬาฯ จึงนำประเด็นวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมรดกภูมิปัญญาผ้าขาวม้าไทยมาดำเนินโครงการในหัวข้อ “การพัฒนาอัตลักษณ์ผ้าขาวม้าและฐานข้อมูลลายผ้าขาวม้าไทย” การจัดทำฐานข้อมูลลายผ้าขาวม้าไทยนี้ เป็นการช่วยส่งเสริมให้ชุมชนทอผ้าของไทยได้เข้าถึงลูกค้าได้กว้างขวางขึ้น เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ และส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน และเป็นการรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ อีกทั้งยังสร้างความภาคภูมิใจให้แก่กลุ่มทอผ้าขาวม้าทุกชุมชนทั่วประเทศ
ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ ประธานกล่าวเปิดงานแถลงข่าวเปิดตัวฐานข้อมูลลายผ้าขาวม้าไทย กล่าวว่า ผ้าขาวม้าไทยถือเป็นมรดกภูมิปัญญาที่สืบทอดมายาวนานและมีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนไทยทุกช่วงวัย ตั้งแต่การใช้ในครัวเรือนจนถึงการนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ ความเรียบง่ายของลวดลายและการผลิตที่ใช้วัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น ทำให้ผ้าขาวม้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับแนวทางความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมาย SDG 11 ที่มุ่งเน้นการปกป้องและรักษามรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ รวมถึง SDG 12 ที่ส่งเสริมการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน
โครงการฐานข้อมูลลายผ้าขาวม้าเน้นการส่งเสริมการใช้ผ้าขาวม้าในรูปแบบที่ไม่ต้องแปรรูปเป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อลดการสูญเสียมูลค่าและประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาแนวทาง “3Rs” (Reduce, Reuse, Recycle) เพื่อปรับปรุง
กระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับแนวทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มุ่งผลักดันให้ผ้าขาวม้าเป็นที่รู้จักในระดับสากล โดยเชื่อมโยงกับเป้าหมาย SDG 8 ที่ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและสนับสนุนงานที่มีคุณค่าให้กับชุมชนท้องถิ่น รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ให้คนไทยเห็นถึงคุณค่าของผ้าขาวม้าในฐานะสินค้าที่สะท้อนอัตลักษณ์ไทยและสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่ชุมชน ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา โครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับผ้าขาวม้าไทยให้เป็นมรดกภูมิปัญญาที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ทั้งในด้านความงามทางวัฒนธรรม ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ และการสร้างความภาคภูมิใจในรากเหง้าของคนไทย พร้อมทั้งอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่คู่สังคมไทยต่อไปอย่างยั่งยืน
รศ.ฤทธิรงค์ จิวากานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษาจุฬาฯ กล่าวว่า “ผ้าขาวม้า” หรือที่เรียกว่าผ้าอเนกประสงค์ เป็นผ้าที่มีความผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะใช้เป็นผ้าห่ม ผ้าถุง หรือกางเกง ด้วยลักษณะของผ้าขาวม้าที่ผลิตง่าย มีลวดลายเรียบง่าย และเข้าถึงได้ทุกคน จึงสะท้อนอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชน ทั่วประเทศ โดยการย้อมสีธรรมชาติในท้องถิ่นทำให้ผ้าขาวม้าแต่ละผืนมีความโดดเด่นและไม่ซ้ำกัน
ปัจจุบันการอนุรักษ์ผ้าขาวม้าไม่ได้หยุดแค่การรักษามรดกภูมิปัญญา แต่ยังมุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนแก่ชุมชนด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยมีการจัดทำฐานข้อมูลลายผ้าขาวม้า ซึ่งระบุรายละเอียดของผู้ผลิตในแต่ละชุมชน ช่วยเชื่อมโยงระหว่างชุมชนผู้ผลิตกับผู้ซื้อโดยตรง ฐานข้อมูลนี้ยังสร้างความภาคภูมิใจให้กับชุมชน และได้รับการรับรองโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์ให้คนไทยหันกลับมาใช้ผ้าขาวม้าในรูปแบบดั้งเดิม เพื่อเพิ่มรายได้ให้ชุมชนโดยตรง แทนการแปรรูปเป็นชิ้นเล็ก ๆ ที่อาจลดคุณค่าของผ้าลง
“หากเราสนับสนุนการใช้ผ้าขาวม้าทั้งผืน จะช่วยให้ชุมชนขายผ้าได้มากขึ้น และส่งเสริมการสร้างผลิตภัณฑ์ที่รักษาเอกลักษณ์ของผ้าไทยอย่างแท้จริง ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงการนี้ ไม่เพียงช่วยอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่ยังสร้างความเข้าใจใหม่ให้กับคนไทยเกี่ยวกับการใช้ผ้าขาวม้าให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมในปัจจุบันและอนาคต ด้วยเป้าหมายที่จะผลักดันให้ผ้าขาวม้ากลายเป็นสินค้าระดับโลกที่สะท้อนความภาคภูมิใจในความเป็นไทย” รศ.ฤทธิรงค์กล่าว