มหาวิทยาลัยบอสตัน (Boston University) ประกาศว่า คุณเมลิสซา แอล. กิลเลียม (Melissa L. Gilliam) รองประธานบริหารและรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการของมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตต (The Ohio State University) รวมถึงนักการศึกษา นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์วิจัย และแพทย์ผู้มีชื่อเสียง จะเข้ามาดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนที่ 11 ของมหาวิทยาลัยบอสตัน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป
คุณกิลเลียมเป็นผู้นำระดับประเทศในด้านการสรรหาคณาจารย์ ความสำเร็จของนักศึกษา รวมถึงความหลากหลายและการไม่แบ่งแยก นอกจากนั้นยังเป็นศาสตราจารย์ด้านสูติศาสตร์ นรีเวชศาสตร์ และกุมารเวชศาสตร์ ที่มีความสนใจในการพัฒนามาตรการส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะของวัยรุ่น นอกเหนือจากพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์แล้ว คุณกิลเลียมยังศึกษาวรรณคดีอังกฤษที่มหาวิทยาลัยเยล (Yale) รวมถึงศึกษาปรัชญาและการเมืองที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford) เนื่องจากคุณกิลเลียมได้รับการเลี้ยงดูมาให้ตระหนักถึงความสำคัญทางสังคมของศิลปะและวัฒนธรรม โดยแซม กิลเลียม (Sam Gilliam) พ่อผู้ล่วงลับ เป็นจิตรกรแนวนามธรรมรุ่นบุกเบิก ผู้ทดลองและสร้างสร้างสรรค์สิ่งใหม่อยู่เสมอ ส่วนแม่คือ โดโรธี กิลเลียม (Dorothy Gilliam) นักข่าวรุ่นบุกเบิกและนักข่าวหญิงผิวดำคนแรกที่ได้รับการว่าจ้างจากวอชิงตันโพสต์ (Washington Post) ทั้งพ่อและแม่ได้ปลูกฝังให้คุณกิลเลียมมีความใฝ่รู้ใฝ่เรียนและเชื่อในความสำคัญของการมีส่วนร่วมของพลเมืองและการบริการสาธารณะ
เมืองบอสตันและมหาวิทยาลัยบอสตัน เป็นสถานที่ที่คุณกิลเลียมคุ้นเคย เพราะคุณกิลเลียมสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Medical School) และเคยทำโปรเจกต์ร่วมกับคณะนักวิจัยของโรงเรียนสาธารณสุข มหาวิทยาลัยบอสตัน (BU School of Public Health) โดยทำงานร่วมกันในประเทศเอกวาดอร์เพื่อทำความเข้าใจสุขภาพของผู้สูงอายุ
“ดิฉันตื่นเต้นมากที่จะได้เรียนรู้ว่ามหาวิทยาลัยบอสตันมีส่วนร่วมกับเมืองบอสตันอย่างไร และเพราะเหตุใดการมีส่วนร่วมจึงเป็นจุดเด่นของมหาวิทยาลัยบอสตัน” คุณกิลเลียมกล่าว “ดิฉันรอคอยที่จะได้รับฟังความคิดเห็นจากทุกคน ดิฉันบริหารงานด้วยการรับฟัง ทำงานร่วมกัน และมอบพลังให้แก่ผู้อื่น นี่คือวิธีที่ดีที่สุดในการบริหารองค์กรขนาดใหญ่ เพื่อให้ทุกคนรู้สึกตื่นตัว อยากมีส่วนร่วม มีพลัง และทำมากกว่าที่ตนเองคิดว่าจะทำได้ หลักปรัชญานี้เป็นแกนหลักของธรรมาภิบาลร่วมกัน และเป็นองค์ประกอบสำคัญของมหาวิทยาลัยที่เจริญรุ่งเรือง”
คุณกิลเลียมรับตำแหน่งต่อจากคุณโรเบิร์ต เอ. บราวน์ (Robert A. Brown) ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนที่ 10 ของมหาวิทยาลัยบอสตันมาตั้งแต่ปี 2548 จนกระทั่งก้าวลงจากตำแหน่งในช่วงฤดูร้อน โดยตลอดระยะเวลา 18 ปี เขาทำให้มหาวิทยาลัยบอสตันมีทุนทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็นสี่เท่า เปิดประตูต้อนรับนักศึกษาที่มีความหลากหลายมากขึ้น ตลอดจนสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันวิจัยเอกชนชั้นนำและผู้นำระดับโลกในการต่อสู้กับโรคติดเชื้อ ส่วนคุณเคนเนธ ฟรีแมน (Kenneth Freeman) รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยบอสตัน จะยังคงอยู่ในตำแหน่งจนกว่าคุณกิลเลียมจะเข้ามารับตำแหน่งในเดือนกรกฎาคมปีหน้า และจะช่วยเหลือคุณกิลเลียมให้เข้ารับตำแหน่งใหม่ด้วยความราบรื่น
การแต่งตั้งคุณกิลเลียมเป็นการปิดฉากการสรรหาผู้บริหารที่กินเวลานานกว่าหนึ่งปี และมีผู้ท้าชิงเกือบ 400 คนจากทั่วโลก ขณะที่นักศึกษา คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และศิษย์เก่าหลายร้อยคนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ ด้วยการระบุคุณลักษณะและคุณสมบัติที่หวังว่าจะได้เห็นในตัวอธิการบดีคนต่อไป ซึ่งเป็นข้อมูลที่ช่วยกำหนดโปรไฟล์ของอธิการบดี และเป็นแนวทางการทำงานของคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 16 คน และในที่สุดคณะกรรมการอำนวยการของมหาวิทยาลัยบอสตันก็ได้ลงมติเมื่อวันพุธที่ผ่านมา เพื่อยืนยันการแต่งตั้งคุณกิลเลียมให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนใหม่
“การที่เราสามารถดึงดูดผู้ท้าชิงที่มีคุณสมบัติสูงและมีศักยภาพมหาศาลเช่นนี้ นับเป็นข้อพิสูจน์ถึงความสำเร็จและแรงผลักดันของมหาวิทยาลัยบอสตันได้เป็นอย่างดี” คุณอาห์มาสส์ ฟากาฮานี (Ahmass Fakahany) ประธานคณะกรรมการอำนวยการของมหาวิทยาลัยบอสตัน กล่าว “เราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ เรามีความฝันอันยิ่งใหญ่ในการเติมเต็มศักยภาพของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ และการแต่งตั้งคุณเมลิสซา กิลเลียม ก็ถือเป็นก้าวที่สำคัญในทิศทางนี้”
#https://edu-today.com/