รีไวร์เอ็ด ซัมมิต (RewirEd Summit) การประชุมสุดยอดด้านการศึกษาและสภาพภูมิอากาศระดับโลก ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างการประชุม COP28 มีผู้เข้าร่วม 1,000 คน ซึ่งรวมถึงประมุขแห่งรัฐ 2 คน รัฐมนตรี 22 คน และซีอีโอ 28 คน พร้อมด้วยวิทยากร 260 คนจากหลากหลายภาคส่วน ซึ่งเป็นตัวแทนของหน่วยงาน 209 แห่ง และ 76 ประเทศ โดยทั้งหมดได้มาร่วมกันผลักดันการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาอย่างเร่งด่วน และนำเสนอโซลูชันอันทรงพลังในจุดที่สภาพภูมิอากาศและการศึกษามาบรรจบกัน
การประชุมสุดยอดครั้งนี้ประกอบด้วยการประชุมย่อย 35 รายการ โดยมุ่งเน้นไปที่การวางระบบการศึกษาใหม่ เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศในทุกขั้นตอนของการเรียนรู้ โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วนได้แสดงให้เห็นถึงพลังของการเปลี่ยนแปลงการศึกษาผ่านตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง โดยอาศัยแนวทางที่ทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนร่วม และอยู่บนพื้นฐานของความร่วมมือข้ามภาคส่วน
แนวคิดริเริ่มสำคัญที่มีการประกาศในการประชุมครั้งนี้
• การเปิดตัวโครงการ “กรีน ไรซิง” (Green Rising) โดยยูนิเซฟ (UNICEF) และ เจเนอเรชัน อันลิมิเต็ด (Generation Unlimited) เพื่อวางแนวทางให้กับเด็กและเยาวชนอย่างน้อย 10 ล้านคนในช่วงปี 2566-2568 ผ่านการจัดกิจกรรมอาสาสมัคร การสร้างทักษะสีเขียว การสร้างงาน การส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการ และการสนับสนุน
• รีไวร์เอ็ด ซัมมิต จะแยกตัวออกมาเป็นเวทีการประชุมอิสระระดับโลก ภายใต้การนำของคณะกรรมการ โดยมีตัวแทนจากกองทุนการศึกษาโลก (GPE) กองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉิน (ECW) และองค์กรดูไบแคร์ส (Dubai Cares) เป็นประธานร่วม
• มูลนิธิอากาข่าน (Aga Khan Foundation) เปิดตัวพอร์ทัลออนไลน์ใหม่ที่รวบรวมโซลูชันการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศโดยครู ทดสอบโดยครู และผ่านการรับรองโดยครูมากกว่า 100 รายการ จากกว่า 60 ประเทศ ซึ่งสมทบทุนโดยดูไบแคร์ส
• ภายใต้ความร่วมมือกับเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย (ECDAN) รัฐบาลของสาธารณรัฐคีร์กีซและมาลาวีจะเชื่อมโยงการพัฒนาเด็กปฐมวัยและการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานเข้ากับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศในประเทศของตน
• โครงการการลงทุนเพื่อสังคม (Social Investment Program) ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มโดยดูไบแคร์ส ร่วมกับมูลนิธิกรามีน เครดิต อกริโคล (Grameen Crédit Agricole Foundation) ภายใต้กลุ่มพันธมิตรอาหารในโรงเรียน (School Meals Coalition) ของโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ (WFP) จะขยายโครงการจัดหาอาหารในโรงเรียนโดยใช้วัตถุดิบที่ปลูกเองอย่างยั่งยืนในประเทศเซเนกัล พร้อมกับเร่งรัดโครงการการศึกษาและการฝึกอบรมด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา
• ประเทศรวันดา เคนยา และเซียร์ราลีโอน ประกาศความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำที่ระบุไว้ใน “สมุดปกขาวว่าด้วยอาหารในโรงเรียนที่เป็นมิตรต่อโลก” (Planet-Friendly School Meals White Paper) ซึ่งเผยแพร่โดยกลุ่มวิจัยสุขภาพและโภชนาการในโรงเรียน (Research Consortium for School Health and Nutrition)
• ดูไบแคร์ส และ ศูนย์พลเมืองโลกบันคีมุน (Ban Ki-moon Centre for Global Citizens) ประกาศเปิดตัวโครงการฝึกอบรมและให้คำปรึกษาออนไลน์แก่เยาวชนเรื่องงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Jobs for Youth Online Training and Mentoring Program) เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับเยาวชน
• รีไวร์เอ็ด ซัมมิต สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงการศึกษาอย่างเร่งด่วน ผ่านโครงการโกลบอล เอดูเคชัน โซลูชันส์ แอคเซเลอเรเตอร์ (Global Education Solutions Accelerator) ซึ่งเปิดตัวเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ระหว่างการประชุม COP28 ด้วยความร่วมมือกับมูลนิธิอากาข่าน และด้วยการสนับสนุนเชิงกลยุทธ์จากศูนย์การปรับตัวระดับโลก (Global Center on Adaptation)
#https://edu-today.com/