“ทุเรียน” ผลไม้ยอดนิยมเอกลักษณ์แห่งซอฟต์พาวเวอร์ไทย สร้างกระแสคึกคักบนสังคมออนไลน์ “หมอนทอง” เป็นสายพันธุ์ยืนหนึ่งที่มีแต่คนพูดถึงมากที่สุด โดยเฉพาะทุเรียนจากสวนจันทบุรี และ “บุฟเฟ่ต์ทุเรียน” เป็นกลยุทธ์การตลาดโดนใจที่ทำให้ “ทุเรียนเลิฟเวอร์” ยอมควักกระเป๋า
บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผ่านเครื่องมือ DXT360 เพื่อฟังเสียงในสังคมออนไลน์ (Social Listening) และนำข้อมูลเรื่องทุเรียนมาวิเคราะห์ในช่วงวันที่ 1 พฤษภาคม – 20 มิถุนายน 2567 พบว่ามีการพูดถึง (Mention) ทุเรียน ถึง 10,460 ครั้ง และ ได้รับการมีส่วนร่วม หรือเอ็นเกจเมนต์ (Engagement) จำนวน 3,556,174 ครั้ง โดยเฟซบุ๊ก (Facebook) เป็นช่องทางที่ได้รับการ Mention และมี Engagement มากที่สุด
“หมอนทอง” สายพันธุ์ทุเรียนยอดฮิต
ช่วงฤดูกาลทุเรียน เป็นช่วงที่ทุเรียนออกผลผลิตจำนวนมาก มีทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์ให้เลือกสรรตามความชอบ โดยจุดเด่นของทุเรียนแต่ละสายพันธุ์ย่อมแตกต่างกันออกไป ทั้ง หมอนทอง รสชาติหวานมันกำลังดี กลมกล่อม ไม่ได้หวานแหลมจนเกินไป และเนื้อเยอะ ก้านยาว รสชาติจะหวานมัน แต่มีขนาดเม็ดที่ใหญ่ ชะนี รสชาติจะหวานจัด กลิ่นแรง เนื้อสีเหลืองเข้ม และมีขนาดเม็ดที่เล็ก กระดุม รสชาติจะมีความหวานมากกว่าความมัน และเนื้อบาง หลงลับแล รสชาติจะมีความหวาน นม ละมุนลิ้น ภูเขาไฟศรีสะเกษ รสชาติหวาน มัน กลิ่นไม่ฉุนมากนัก และเนื้อจะมีความแห้ง ไม่แฉะ นกหยิบ รสชาติจะหวาน มัน ปานกลาง มีความคล้ายคลึงกับหมอนทอง และลูกไม่ใหญ่มาก
เมื่อพิจารณาข้อมูลจาก Social Media พบว่าสายพันธุ์ทุเรียนที่ได้รับการกล่าวถึงสูงสุด (Mention) คือ หมอนทอง 56.73% รองลงมา ชะนี ภูเขาไฟศรีสะเกษ ก้านยาว และกระดุม ตามลำดับ
ส่วนสายพันธุ์ที่มี Engagement สูงสุด คือ หมอนทอง เช่นเดียวกัน มี Engagement สูงถึง 64.53% รองลงมา ก้านยาว นกหยิบ หลงลับแล และภูเขาไฟศรีสะเกษ ตามลำดับ
นอกจากรสชาติ ยังพบว่า เนื้อสัมผัสของทุเรียนก็เป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกบริโภค โดยเนื้อสุก นิ่ม และเนื้อกรอบนอกนุ่มใน ได้รับความนิยมมากในระดับใกล้เคียงกัน ส่วนเนื้อไก่ฉีก ซึ่งเป็นทุเรียนระยะแรกของเนื้อที่สามารถกินได้ มีความกรอบ รสชาติไม่หวานมาก เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบทุเรียนเนื้อกรอบและรสชาติไม่หวานจัด
5 สายพันธ์ทุเรียนยอดฮิตที่ถูกพูดถึงมากที่สุด (by mention)
1. หมอนทอง 56.73%
2. ชะนี 10.38%
3. ภูเขาไฟศรีสะเกษ 6.13%
4. ก้านยาว 5.98%
5. กระดุม 5.88%
5 สายพันธ์ทุเรียนที่ได้รับความสนใจมากที่สุด (by engagement)
1. หมอนทอง 64.53%
2. ก้านยาว 7.89%
3. นกหยิบ 6.24%
4. หลงลับแล 5.05%
5. ภูเขาไฟศรีสะเกษ 3.41%
สวนทุเรียนเมืองจันทบุรีเป็นที่พูดถึงมากในโซเชียล
นอกเหนือจากรสชาติและเนื้อสัมผัส พื้นที่เพาะปลูกก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคใช้พิจารณาในการเลือกทุเรียน เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะด้านสภาพดิน แหล่งน้ำ อุณหภูมิ และความชื้น ซึ่งส่งผลให้ทุเรียนมีรสชาติและเนื้อสัมผัสที่แตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้ แต่ละจังหวัดจึงมีสายพันธุ์ทุเรียนที่โดดเด่นแตกต่างกันไป โดยบางสายพันธุ์สามารถเจริญเติบโตได้ดีเฉพาะในบางพื้นที่เท่านั้น
“ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ” โดดเด่นด้วยเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น อันเป็นผลจากการเพาะปลูกในดินภูเขาไฟของจังหวัดศรีสะเกษ ในขณะที่สายพันธุ์ “หมอนทอง” ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย เป็นที่ขึ้นชื่อในหลายจังหวัด อาทิ จันทบุรี ระยอง ตราด และชุมพร ด้วยคุณสมบัติที่เจริญเติบโตง่าย ให้ผลผลิตดี และตอบโจทย์ความต้องการของตลาด
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับช่วงฤดูกาลทุเรียนออกผลผลิต แหล่งเพาะปลูกทุเรียนทั่วประเทศไทยได้รับความสนใจอย่างมาก โดยจังหวัดที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดในการออกผลผลิตทุเรียน เรียงตามลำดับ ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ศรีสะเกษ ตราด และชุมพร
5 แหล่งเพาะปลูกทุเรียนที่ได้รับการพูดถึงสูงสุด (ในวงเล็บคือพันธ์ที่โดดเด่นในแต่ละจังหวัด)
1. จันทบุรี 21.54% (หมอนทอง)
2. ระยอง 11.45% (หมอนทอง)
3. ศรีสะเกษ 9.19% (ภูเขาไฟศรีสะเกษ)
4. ตราด 7.62% (หมอนทอง)
5. ชุมพร 4.48% (หมอนทอง)
กลยุทธ์ “บุฟเฟ่ต์ทุเรียน” แคมเปญที่รองรับลูกค้าทุกเจน
ด้วยความชื่นชอบ หลงไหลในรสชาติ และ เนื้อสัมผัสของทุเรียน ผนวกกับความต้องการอันหลากหลายของผู้บริโภค จึงก่อให้เกิดการพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มมากขึ้น เช่น กลยุทธ์ชั่งน้ำหนักเนื้อทุเรียนล้วน กลยุทธ์รับประกันคุณภาพเนื้อทุเรียน เป็นต้น โดยข้อมูลจากแพลตฟอร์ม DXT360 ที่น่าสนใจคือ “กลยุทธ์บุฟเฟ่ต์ทุเรียน” ที่ได้รับ Engagement ทุกช่องทางทั้งหมด 52,153 ครั้ง และ พบการกล่าวถึงทั้งหมด (Mention) 283 ครั้ง
จุดเด่นของกลยุทธ์บุฟเฟ่ต์ทุเรียนที่ช่วยตอบโจทย์ปัญหาของกลุ่มลูกค้าที่อยากจะทานคนเดียว มาเป็นคู่ หรือ มากันทั้งครอบครัว คือ
1. การได้ลองทานสายพันธุ์และเนื้อทุเรียนที่ถูกใจทุกรูปแบบ
2. ทานได้ไม่อั้น ตอบโจทย์ช่วงราคาทุเรียนแพง
3. เมนูหลากหลายทั้งแบบดั้งเดิมอย่างข้าวเหนียวทุเรียน และร่วมสมัยอย่างบิงซูทุเรียน
4. การนำเมนูทุเรียนมาเสริมเป็นอาหารหวานในไลน์บุฟเฟ่ต์อาหารคาวเพื่อตอบโจทย์มื้ออาหารหลัก
5. มีผลไม้ตามฤดูกาลนอกจากทุเรียนเพื่อเพิ่มตัวเลือกให้กับลูกค้า
โดยปัจจัยที่ทำให้แคมเปญบุฟเฟ่ต์ของแต่ละเจ้าได้รับกระแสตอบรับดีมาจาก การประเมินความคุ้มค่าของลูกค้าจากราคาต่อหัว เนื่องจากทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีฤทธิ์ร้อนทำให้ไม่สามารถรับประทานได้ในปริมาณมาก อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ บุฟเฟ่ต์ทุเรียนที่ตึกใบหยก ได้รับกระแสตอบรับที่ดีในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการเชิญอินฟลูเอ็นเซอร์ (Influencer) สายกินมาร่วมกิจกรรมโปรโมท เช่น mawin , best_apicha รวมทั้ง เพจของกินอย่าง Starvingtime
จากผลไม้สู่การต่อยอดเมนูคาว-หวาน
นอกจากแคมเปญบุฟเฟ่ต์ทุเรียนแล้ว ยังมีเมนูทุเรียนทอด ทุเรียนกวน ผลไม้แปรรูปที่เรามักคุ้นเคย ที่ผู้คนส่วนใหญ่นิยมชมชอบ อีกทั้งบรรดาร้านอาหารชื่อดังทั้งคาวและหวาน อย่าง MK , Swensen, Dairy Queen ก็มีการนำทุเรียนมาต่อยอดเพื่อเกิดเมนูใหม่ ๆ ขึ้นอยู่เสมอ จนได้รับความนิยม และผู้คนให้ความสนใจกันอย่างล้นหลาม โดยเมนูอาหารหวานยอดฮิตที่พบ เช่น ข้าวเหนียวทุเรียน ไอศกรีมทุเรียน เค้กทุเรียน และเมนูอาหารคาว เช่น ส้มตำทุเรียน แกงส้มทุเรียน
“ทุเรียน” สัญลักษณ์หน้าร้อน อร่อยล้ำ ทานแต่พอดี
“ทุเรียน” ราชาผลไม้เอกลักษณ์แห่งซอฟต์พาวเวอร์ไทย เป็นผลไม้เปลือกหนาม เนื้อสีเหลืองทองอร่าม พร้อมด้วยรสชาติหวาน มัน นุ่มละมุนลิ้น และกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว บางคนว่ามีกลิ่นแรง บางคนว่าหอม จนได้รับฉายา ราชาผลไม้ ทั้งยังเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานและน้ำตาลสูง หากบริโภคในปริมาณมาก ๆ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้
อย่างไรก็ตาม แม้ทุเรียนจะอุดมด้วยพลังงานและน้ำตาล แต่ทุเรียนก็มีสรรพคุณทางยาที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกาย หากรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ
ทุเรียน นอกจากเป็นสัญลักษณ์ฤดูร้อนแล้วยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ มีฤดูเก็บเกี่ยวเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี หลังจากนั้นผลผลิตจะเริ่มลดลง แต่ยังคงมีออกผลในบางพื้นที่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภูมิภาคและสภาพอากาศในแต่ละพื้นที่
ข้อมูลทั้งหมดที่นำมาวิเคราะห์หา Insight รวบรวมผ่าน DXT360 แพลตฟอร์มติดตามข่าวสารและเสียงของผู้บริโภค (Social Listening) ของบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด (dataxet:infoquest) โดยเก็บข้อมูลระหว่าง 1 พฤษภาคม – 20 มิถุนายน 2567
#https://edu-today.com/