มหาวิทยาลัยรังสิต จัดโครงการแนะแนวสัมพันธ์ “แนะแนวยุค Generative AI” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับทิศทางการศึกษาสู่อนาคต จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคม 2566 โดยมีครูแนะแนวจากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ จำนวน 65 คน ร่วมงาน ณ โรงแรมเมอเวนพิค สยามโฮเทล นาจอมเทียนพัทยา จังหวัดชลบุรี
ดร.อรรถวิท อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ยุคสมัยที่เปลี่ยนและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้การเรียนการสอนต้องมีการปรับตัว “ครูแนะแนว” มีความสำคัญมากในการให้ทิศทาง เป็นผู้ที่ทำให้เด็กค้นพบตัวเอง เมื่อเขามีแนวทางที่ถูกต้องจะสามารถต่อยอดไปสู่ความสำเร็จ หรือแก้ไขปัญหาในชีวิตได้ มหาวิทยาลัยรังสิตเองก็พร้อมจะสร้างประสบการณ์ พัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการศึกษา ร่างกายและจิตใจ เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ 24 ชั่วโมง สำหรับการจัดโครงการแนะแนวสัมพันธ์ในครั้งนี้ เป็นโอกาสดีมากที่ครูแนะแนวทั่วประเทศและมหาวิทยาลัยรังสิตได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เพราะที่ผ่านมาได้ดำเนินงานด้วยกันมาตลอดในฐานะมหาวิทยาลัยพี่โรงเรียนน้อง และในการจัดกิจกรรมครั้งนี้มหาวิทยาลัยรังสิตก็มีแนวทาง ทิศทางที่เราจะเดินไปข้างหน้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน โอกาสนี้ขอขอบคุณครูแนะแนวทุกท่านที่มาร่วมงาน เราจะร่วมดูแลนักเรียนนักศึกษาไปด้วยกัน จนกว่าพวกเขาประสบความสำเร็จในชีวิต จบไปมีวิชาชีพที่ดี รวมถึงคุณภาพด้านอื่นๆ ด้วย
ภายในงาน มีการบรรยายในหัวข้อต่างๆ ดังนี้ “วิสัยทัศน์ใหม่มหาวิทยาลัยรังสิต ด้านแผนและพัฒนา” โดย ผศ.ดร.นฤพนธ์ ไชยยศ รองอธิการบดีฝ่ายแผนและพัฒนา ประเด็น The Future of Education โดยทุกคณะ/ สาขาวิชาที่มหาวิทยาลัยรังสิต มีการวางกลไกการเรียนการสอนแบบ Transformative Learning นักศึกษาจะมีส่วนร่วมในการวางความคิด กลไก ค้นหาตัวเอง นำไปสู่ความสำเร็จโดยใช้ระยะเวลาที่สั้นขึ้น โดยจะมีความเข้าใจและได้ลิ้มรสความสำเร็จของชีวิตที่ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของเกรด แต่เป็นความสำเร็จของชีวิตที่จะได้รับตั้งแต่ปี 1 ในสายวิชาชีพของตนเอง ได้เป็นอะไรก็ได้ในสิ่งที่เขาอยากเป็น ประเด็น“ทิศทางยุทธศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม” โดย ผศ.ดร.นเรฏฐ์ พันธราธร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย โดยเรามีงานวิจัยที่พัฒนาศักยภาพอาจารย์ รวมทั้งการส่งเสริมการตีพิมพ์บทความวิจัย จดสิทธิบัตรและการบ่มเพาะธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมาแบรนด์ม.รังสิต มีการจดทรัพย์สินทางปัญญา มีความพยายามในการเข้าสู่เชิงพาณิชย์ ขณะเดียวกันก็เป็นงานวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถลงสู่ชุมชน และพัฒนาชุมชนได้แบบยั่งยืน
ประเด็น “ความเป็นเลิศด้านการศึกษา (Excellence in Education)” โดย ผศ.ดร.ปถมาพร สุกปลั่ง กล่าวว่า การจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยรังสิต เราสอนให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตจาก
กระบวนการ Transformative Learning ซึ่งผลลัพธ์คือเราจะได้ Change Agent เป็นบัณฑิตที่จบไปและสามารถทำอะไรก็ได้ เพื่อนำสังคมเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น นั่นคือเป้าหมายในการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยรังสิต และประเด็นการบูรณาการกิจกรรม-วิชาการ พัฒนาทักษะ Hard Skill & Soft Skill โดย รศ.ดร.กฤษณ์ ทองเลิศ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ซึ่งมหาวิทยาลัยรังสิตมีการดำเนินกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาได้แสดงออกทางความคิดโดยไม่ปิดกั้น และสามารถใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยได้อย่างมีความสุข รวมทั้งมีการดูแลให้คำปรึกษาแนะนำการเรียนหรือปัญหาในทุกด้าน ให้นักศึกษาได้รู้สึกอุ่นใจ ปลอดภัยในรั้วมหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายใน หัวข้อ “แนะแนวด้วย Chat GPT และ Generative AI” โดย ผศ.ดร.ธรรณพ อารีพรรค วิทยาลัยนวัตกรรมดิจิทัลเทคโนโลยี และกิจกรรมการแนะแนวด้วยสัมผัสหัวใจของความเป็นมนุษย์ โดย ดร.วรชาติ เฉิดชมจันทร์ และการบรรยายเรื่อง “นวัตกรรมจากการแพทย์แผนตะวันออก : ทางเลือกอาชีพและโอกาสต่อยอดธุรกิจ” โดยอาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งภายในงานมีครูแนะแนวจากทั่วประเทศร่วมงาน
อาจารย์ศศวรรณ รื่นเริง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายแนะแนวและรับนักศึกษา มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดโครงการฯ ว่า กิจกรรมนี้ได้จัดต่อเนื่องมายาวนานตั้งแต่ปี 2544 ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของครูแนะแนว ที่จะสามารถนำข้อมูลความรู้ ทั้งในเรื่องหลักสูตร สื่อการเรียนการสอนต่างๆ ของมหาวิทยาลัย รวมทั้งความรู้อื่นๆ ที่เป็นประโยชน์อย่างก้าวทันยุคสมัยไปประยุกต์ใช้หรือบอกต่อนักเรียนในการได้เลือกเรียนในสิ่งใช่คณะที่ชอบ เพื่อต่อยอดอนาคตของตนเองในระดับมหาวิทยาลัยต่อไป ขณะเดียวกันยังเป็นการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวการแนะแนวให้แก่ครูแนะแนวทั่ประเทศอีกด้วย
อาจารย์สะอาด ชัชวาลยางกูล โรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคม จังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า มีโอกาสได้ร่วมงานกับมหาวิทยาลัยรังสิตมายาวนานกว่า 20 ปี และได้ร่วมทริปศึกษาดูงานด้วยกันมาตลอด และทุกครั้งก็มีความรู้ใหม่ๆ มาให้ครูแนะแนวได้มาเปิดประสบการณ์และนำไปต่อยอดเพื่อปรับใช้กับการสอนให้ก้าวทันและตอบโจทย์ยุคสมัยสังคมที่เปลี่ยนไป ตลอดระยะเวลาของการเป็นครูแนะแนวมีความภาคภูมิใจในวิชาชีพครู เราเป็นครูด้วยจิตวิญญาณ ต้องพร้อมที่จะให้คำปรึกษาในทุกๆ เรื่อง
อาจารย์อาทิตยา วินทะไชย โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า โดยปกติทางมหาวิทยาลัยรังสิตได้เข้าไปแนะแนวที่โรงเรียนอยู่แล้ว ก็ถือว่าเป็นโอกาสดีๆ ที่ได้มาเจอครูแนะแนวทั่วประเทศในโครงการฯ นี้ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนการทำงานระหว่างกัน ที่สำคัญคือได้รับความรู้ใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์สำหรับการแนะแนวและสามารถนำข้อมูลมาใช้ประกอบการแนะแนวการศึกษาต่อให้แก่นักเรียนได้ ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยรังสิต ที่จัดโครงการศึกษาดูงานดีๆ เช่นนี้ได้ทั้งประสบการณ์และการเปิดโลกกว้างในยุคที่ครูแนะแนวเองก็ต้องก้าวทันเทคโนโลยีไปพร้อมๆ กับความคิดของเด็กรุ่นใหม่
อาจารย์ปัทมา นัยกุล โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย จังหวัดนครปฐม กล่าวว่า นับเป็นโอกาสดีที่ได้มาร่วมโครงการฯ นี้ นอกจากได้มารู้จักเชื่อมสัมพันธ์กับครูแนะแนวทั่วประเทศแล้ว ความรู้ที่ได้รับกลับไปสามารถเป็นประโยชน์อย่างมากในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เรื่องของ AI ไปปรับใช้ในการเรียนการสอนกับเด็กยุค Gen Z ซึ่งครูแนะแนวเองก็ต้องปรับตัวให้ก้าวทันยุคสมัย เพราะเราต้องเข้าใจเด็ก ก้าวทันสื่อ พร้อมที่จะเป็นทั้งครู เพื่อน และพี่ในการให้คำปรึกษาแก่พวกเขา
#https://edu-today.com/